The Metaphysical problems of the Holy Griddhakuta

บทนำ ปัญหาเกี่ยวกับความจริง
ในปัญหาความจริงของสิ่งต่าง ๆตามแนวคิดของอภิปรัชญา เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องศึกษา เพราะชีวิตมนุษย์ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องความจริงและเรื่องโกหกตลอดเวลาเพราะธรรมชาติของมนุษย์มีอวัยวะอินทรีย์ ๖ เชื่อมต่อกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและทางสังคมมนุษย์อยุู่ตลอดเวลา เมื่อมนุษย์ได้ยินข้อเท็จจริงในเรื่องใด พวกเขามักจะเชื่อเท็จจริงในเรื่องนั้นทันที เพราะความไว้วางใจที่มีต่อกันและเป็นข้อเท็จจริงจากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง คนในครอบครัว และเพื่อนฝูง เป็นต้น โดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความจริงในเรื่องนั้น ความจริงตามแนวคิดทางอภิปรัชญานั้นแบ่งเป็น ๒ ลักษณะกล่าวคือ
๑.ความจริงที่สมมติขึ้น มันเป็นข้อเท็จจริงในเรื่องหนึ่งเรื่องใดจริง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังมนุษย์ และมนุษย์สามารถรับรู้ได้ด้วยอวัยวะอินทรีย์ ๖ ของร่างกายของพวกเขาเอง ตัวอย่างเช่นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติของแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ลมพายุในทะเล น้ำป่าไหลทะลักพลัดพาบ้านเรือนพังทลาย หรือปรากฏการณ์ทางสังคมมนุษย์ในการบูชาเทพเจ้าเพื่อขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การปฏิบัติธรรมตามอริมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น เมื่อจิตใจของมนุษย์รับรู้ปรากฎการณ์เหล่านี้ก็ดึงดูดอารมณ์ของปรากฏการณ์เหล่านั้นเป็นหลักฐานทางอารมณ์เป็นข้อมูลที่สั่งสมอยู่ไว้ในจิตใจ และจิตใจของตนเองก็เกิดการปรุงแต่งข้อมูลด้วยการคิดหรือการวิเคราะห์หลักฐานต่าง ๆ เหล่านั้น เพื่อพิสูจน์ความจริงของคำตอบในเรื่องนั้น ๆ เมื่อความรู้ทางปรากฎการทางสังคมหรือทางธรรมชาติเหล่านั้นที่เกิดขึ้ย ย่อมตั้งอยู่และเสื่อมสลายไปตามกฎธรรมชาติ ตามกฎธรรมชาติของความไม่เที่ยง ก็ถือว่าความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นความรู้ในระดับประสาทสัมผัสเหล่านั้น ดังนั้น เมื่อภูเขาคิชกูฏ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มนุษย์สมมติชื่อมา และเป็นสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเพราะมีเหตุการณ์ของพระพุทธเจ้าทรงสอนเทวดาและมนุษย์ ที่เกิดขึ้นตั้งอยู่และเสื่อมสลายไป เป็นต้น
ผู้เขียนสงสัยเราจะรู้ได้อย่างไรแท้จริงเป็นภูเขาคิชฌกูฏ เป็นเรื่องของการสืบหาหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ความจริงกันต่อไป ตามหลักญาณวิทยาว่าด้วยบ่อเกิดความรู้ของมนุษย์ นักปรัชญาตะวันตกได้กำหนดทฤษฎีความรู้ไว้หลายทฤษฎี ในการเขียนบทความนี้ผู้เขียนใช้ทฤษฎีความรู้ประจักษ์นิยมมีหลักการวิเคราะห์ว่าบ่อเกิดความรู้ของมนุษย์จะต้องรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสของมนุษย์เท่านั้น หากความรู้ใด ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสของมนุษย์ ถือว่าบุคคลนั้น ไม่มีความรู้ดังกล่าวที่จะยืนยันความจริงของเรื่องนั้นได้ และไม่สามารถรับฟังเป็นพยานได้ เพื่อพิสูจน์ปัญหาความจริงของภูเขาคิชฌกูฎ เมื่อผู้เขียนศึกษาหลักฐานในพระไตรปิฎกมหาจุฬา ฯ หลายเล่ม ได้ยินข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่าภูเขาคิชฌกูฏว่าตั้งอยู่ที่พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ แต่เมื่อวิเคราะห์หลักฐาน ปรากฎข้อมูลของเรื่องราวในจิตใจของผู้เขียนไม่ชัดเจนเพียงพอ เพื่อให้เข้าใจว่าภูเขาลูกนี้มีที่มาอย่างไร ตั้งอยู่ที่ไหนในสาธารณรัฐอินเดีย ผู้เขียนจำเป็นต้องใช้ทฤษฎีความรู้เพื่อแสดงขอบเขตความรู้ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาเหตุผลยินยันความจริงของคำตอบเกี่ยวกับที่ตั้งของภูเขาคิชฌกูฏ เพื่อเขียนบทวิเคราะห์นี้ผู้เขียนใช้ทฤษฎีความรู้เชิงประจักษ์กำหนดไว้ว่า"มนุษย์คนใดคนหนึ่งรับรู้จากประสาทสัมผัสอย่างเดียวเท่านั้น" ตามทฤษฎีความรู้เชิงประจักษ์ ผู้เขียนตีความได้ว่า ความรู้ที่เกี่ยวกับความจริงของภูเขาคิชกูฏมนุษย์ต้องรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสของตนเองเท่านั้น จึงจะถือว่าเป็นความรู้ที่แท้จริงของมนุษย์ ส่วนความรู้ใดไม่ผ่านการรับรู้ทางประสาทสัมผัสของมนุษย์ถือว่า เป็นความรู้ที่เป็นเท็จเพราะไม่มีอยู่จริง
ปัญหาเกี่ยวกับความจริงของที่ตั้งของภูเขาคิชฌกูฏ ผู้เขียนได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับความมีอยู่ของภูเขาคิชฌกูฏผ่านประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสของผู้เขียนเอง จากการบรรยายโดยนิสิตรุ่นพี่ของมหาวิทยาลัยบานารัสฮินดูเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. ๒๐๐๒ เมื่อผู้เขียนได้ร่วมจาริกแสวงบุญกับนิสิตของมหาวิทยาลัยในเมืองพาราณสีที่สังเวชนียสถานทั้ง ๔ และเดินทางมาไปยังยอดเขาคิชฌกูฏ ตั้งอยู่ที่เมืองราชคฤห์โบราณ เพื่อปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้าที่มูลคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าบนยอดเขาคิชฌกูฏ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองพุทธคยา อำเภอคยา รัฐพิหาร ระยะทาง ๗๒ กิโลเมตร เมื่อเดินทางถึงเมืองราชคฤห์โบราณ มองเห็นจากรถบัสวิ่งเข้าตัวเมืองโบราณ จะมองเห็นภูเขาตั้งสูงตระหง่านขึ้นสู่ท้องฟ้า ผ่านประตูเมืองเข้าสู่แอ่งกะทะที่ล้อมรอบด้วยภูเขาห้าลูกโดยมีภูเขาอิสิคิริด้านซ้ายมือ ส่วนด้านขวามือเป็นภูเขาปัณฑวะบนเทือกเขาทั้งสองแห่ง ผู้เขียนมองเห็นกำแพงหินก่อสร้างไปตามเทือกเขาอันยาวไกลและเดินทางเข้าในตัวเมืองโบราณอีกไม่นาน เราก็มาถึงเชิงเขารัตนคีรีเป็นเส้นทางโบราณที่พระเจ้าพิมพิสารทรงใช้เป็นเส้นทางเสด็จ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ยอดเขาคิชฌกูฏคณะของเราเดินขึ้นสู่ยอดเขาคิชฌกูฏอย่างช้า ๆ ผู้เขียนรู้สึกเหนื่อยมากเพราะเดินผ่านอากาศร้อนในฤดูหนาวตามเส้นทางขึ้นสู่ยอดเขาผู้เขียนต้องหยุดพักเป็นช่วงๆ ตรงเชิงเขาเจ้าหน้าที่โบราณคดีติดป้ายประกาศอย่างชัดเจนว่า ถนนที่เรากำลังเดินทางไปสู่ยอดคิชฌกูฏนั้นมีชื่อว่า ถนนพระเจ้าพิมพิสาร ในสมัยพุทธกาล ถนนเส้นนี้น่าจะเป็นเส้นทางเดินลัดเลาะตามไหล่เขาเรื่อยไปสู่ยอดเขาคิชกูฏเหมาะสำหรับเป็นสถานที่หลีกเร้นภาวนาเป็นอย่างดี เงียบสงบ ไร้ผู้คนอาศัยอยู่ จิตวิญญาณของพระภิกษุผู้ภาวนาสามารถเดินฌานภาวนาตามหลักมรรคมีองค์ ๘ สามารถตัดอารมณ์โลกธรรมที่จะเข้ามาสู่จิตวิญญาณของตนเองได้เป็นอย่างดี เมื่อมาถึงบนเทือกเขาช่วงแรก จะมีเส้นแยกขึ้นไปสู่ภูเขารัตนคีรีด้านซ้ายมือ ตรงไปเป็นทางขึ้นสู่จะยอดเขาคิชฌกูฏเป็นสถานที่ตั้งพระคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกูฏ ดังนั้นภูเขาคิชฌกูฏจึงเป็นกำแพงธรรมชาติที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อเป็นกำแพงเมืองล้อมรอบตัวเมืองราชคฤห์ให้เป็นเมืองหลวงอันเงียบสงบสุขปลอดภัยจากโจรภัย เหมาะแก่พระอริยสงฆ์มาเปิดสำนักสอนวิปัสสนากรรมฐานแก่ผู้คน ให้พ้นจากภัยในวัฏสงสาร เป็นต้น
๑. สถานที่ตั้งภูเขาคิชฌกูฏ
เป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เพราะสถานตั้งคันธกุฎีของพระพุทธเจ้า ทรงใช้เป็นที่ประทับ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาจำพรรษาหลายพรรษาด้วยกันในเมืองราชคฤห์ เมื่อวิเคราะห์จากแผนที่โลกของกูเกิล (Google Map) โดยวัดเวฬุวันมหาวิหารเป็นศูนย์กลางของเมืองราชคฤห์ เพราะถูกระบุชื่อไว้เป็นหลักฐานบนแผนที่โลกของกูเกิล ลักษณะภูเขาคิชฌกูฏ เป็นภูเขาขนาดเล็กสูงไม่เกิน ๖๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล เรียกว่าเนินเขามากกว่าภูเขา ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้คำนิยามว่า "ภูเขา" ต้องเป็นพื้นที่จากบริเวณโดยรอบตั้งแต่ ๖๐๐ เมตรขึ้นไปแต่ในทัศนะส่วนตัวของผู้เขียนแล้วเห็นว่าควรใช้คำว่า"ภูเขาคิชฌกูฏ" ตามที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเพราะว่า ความสูงของภูเขาไม่ว่าจะสูงมากหรือน้อยกว่า ๖๐๐ เมตรก็ตาม ก็ถือว่าเป็นภูเขาคิชฌกูฏนั้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองราชคฤห์ เป็นภูเขาที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ประทับเป็นจำวัดช่วงเข้าพรรษาที่ ๓ ๕ ๗ และในพรรษาที่ ๔๔ ทรงแสดงธรรมไว้หลายพระสูตรด้วยกัน ในยามที่พระพุทธเจ้าทรงเสด็จมาประทับภูเขาแห่งนี้ พระเจ้าพิมพิสารเสด็จพระดำเนินมาเข้าเฝ้าพระพุทธที่ภูเขาแห่งนี้หลายครั้ง เส้นทางเสด็จเรียกว่า "ถนนพระเจ้าพิมพิสาร" (Bhimbhisan Road) เป็นถนนสายประวัติศาสตร์ที่ยังอนุรักษ์ไว้จนถึงทุกวันนี้ภูเขาคิชฌกูฎขนาดเล็กตั้งอยู่ทางทิศใต้ของยอดเขารัตนคีรี เมื่อเราวิเคราะห์ถึงสภาพของของภูมิประเทศของเมืองราชคฤห์เห็นว่า บนยอดเขาสูงสุดของรัตนคีรีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลานกว้างขวางเหมาะสำหรับใช้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ได้หลายอย่างเช่น เป็นลานประหารนักโทษในสมัยพุทธกาล เป็นต้นเพราะมีพื้นที่กว้างเหมาะสำหรับบรรจุคนนั่งชมการทำกิจกรรมได้เป็นร้อย ๆ คนโดยเฉพาะการประกอบพิธีประหารนักโทษในสมัยพุทธกาล
๒. มูลคันธกุฎีของพระพุทธเจ้า ตามแนวคิดทางญาณวิทยาว่า ด้วยที่มาความรู้ของมนุษย์ ความรู้ของมนุษย์จะเกิดขึ้นเมื่อจิตออกไปรับรู้เรื่องโลกแล้ว คิดหาเหตุผลของคำตอบจากสิ่งที่ตนสงสัย เมื่อพิจารณาแล้วจากพยานเอกสารปฐมภูมิและทุติยภูมิกลับไปมาหลายครั้งจนเกิดความแน่ใจว่าเป็นสารรัตถะของสิ่งนั้นแล้ว จะเป็นความรู้และความจริงของสิ่งนั้นและเก็บสั่งสมความรู้นั้นไว้ในจิตแล้วนำข้อมูลที่เก็บไว้ในจิตนั้น และนำมามาคิดหาประโยชน์ต่อไปดังปรากฎหลักฐานของความรู้เกี่ยวกับภูเขาคิชฌกูฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย (๑.ขันธสังยุต ) มัชฌิมปัณณาสก์ ๔.เถรวรรค๕. วักลิสูตรได้กล่าวว่า "พระพุทธเจ้าประทับบนภูเขาคิชฌกูฏ ตลอดคืนและวันที่ยังเหลืออยู่นั้น".......
จากข้อความในพระไตรปิฎกที่ยกมาข้างต้นนั้นเป็นหลักฐานยืนยันว่าภูเขาคิชฌกูฏเป็นที่ประทับพระพุทธเจ้านอกเหนือจากวัดเวฬุวันมหาวิหาร ดังนั้นภูเขาคิชฌกูฏเป็นสถานที่ตั้งของพระมูลคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เพราะเป็นความรู้ผ่านประสาทสัมผัสของพระอานนท์ซึ่งเป็นพุทธฐากของพระพุทธเจ้าและพระอานนท์มีกุฎีอยู่บนยอดภูเขาคิชฌกูฎเช่นกัน และเป็นผู้ตอบคำถามของพระมหากัสสปเรื่องราวเกี่ยวกับพระสุตตันตปิฎกในการสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่ถ้ำสัตบันคูหาบนภูเขาเวภาระเมืองราชคฤห์ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้คำนิยามคำว่า คันธ แปลว่า กลิ่น กลิ่นหอม ส่วนคำว่า คันธกุฎี แปลว่ากุฎิที่มีกลิ่นหอม ชื่อกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้าเรียกว่าพระคันธกุฎี หากวิเคราะห์จากอามิสบูชาหมายถึงการบูชาด้วยสิ่งของเช่นดอกไม้เป็นต้น พุทธสาวกของพระพุทธเจ้ามักจะนำ ดอกไม้ เครื่องหอมต่าง ๆ มากมายหลายชนิดมาบูชาพระพุทธเจ้าทำให้มูลคันธกุฎีของพระพุทธเจ้ามีกลิ่นหอมจากดอกไม้ตลอดเวลาจากอามิสบูชาเหล่านั้น ปัญหาต่อไปว่ากุฎิของพระพุทธเจ้าสร้างด้วยอะไร เมื่อวิเคราะห์จากการสร้างกุฏิของพุทธสาวกจากพระไตรปิฎก สร้างหญ้าและไม้ เป็นต้น
ความรู้ของผู้เขียน
ผู้เขียนรับรู้ความมีอยู่จริงของภูเขาคิชฌกูฏผ่านประสาทประสาทสัมผัสของผู้เขียนเองหลายครั้ง เมื่อได้เดินทางไปที่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์นี้หลายครั้ง ในสมัยก่อนจะมีโพรงหินเปิดเป็นเส้นทางนำขึ้นไปสู่บนยอดเขาคิชฌกูฏที่ตั้งของมูลคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าได้ แต่ในสมัยปัจจุบันเส้นทางโบราณดังกล่าวได้เลิกใช้แล้ว มีการสร้างบันได้ขึ้นสู่บนยอดเขาคิชฌกูฏแทนเพราะในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาสู่บนยอดเขาคิชกูฏเป็นจำนวนมาก เมื่อผู้เขียนมีโอกาสไปแสวงบุญในแดนพุทธภูมินั้น เพราะมาศึกษาต่อในประเทศอินเดีย นักศึกษาอย่างเราจึงมีกิจกรรมไปแสวงบุญในแดนพุทธภูมิทุกปี นักศึกษาฝ่ายบรรพชิตรุ่นพี่เล่าให้ฟังว่าภูเขาแห่งนี้เป็นภูเขาหัวแร้ง เป็นสถานที่ตั้งของมูลคันธกุฎีของพระพุทธเจ้า ก่อนจะเดินมาแสวงบุญในพุทธสถานบนภูเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ แห่งนี้ได้ศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎกแล้ว ผู้เขียนจินตนาการไปว่าสถานที่แห่งนี้ว่าคงเต็มไปด้วยฝูงนกแร้งยืนเกาะบนยอดเขา มารอคอยกินซากศพ ที่ชาวเมืองนำร่างอันไร้วิญญาณ มาทิ้งไว้ในสถานที่แห่งนี้จำนวนหลายสิบศพในแต่ละวันแต่ความรู้และความเป็นจริงนั้น ผู้เขียนมองไม่เห็นมีอีแร้งสักตัวอาศัยที่ภูเขาคิชฌกูฏแห่งนี้แต่อย่างใด เพราะตามขนบธรรมเนียมของชาวฮินดูในเมืองราชคฤห์ได้เปลื่ยนแปลงไปตามความเชื่อและแนวความคิดไปไม่มีการโยนศพในป่าช้าอีกต่อไปเมื่อพวกเขานิยมเผาศพคนตายภายใน ๒๔ ชั่วโมงตามอิทธิพลความเชื่อในพระพุทธศาสนา จึงไม่มีซากศพเป็นอาหารของนกอีแร้งอีกต่อไป ต้องโยกย้ายถิ่นฐานบินไปหาอาหารแหล่งอื่น ๆ ที่ยังทิ้งศพไว้เพราะไม่มีฟืนเผ่าศพหรือฟื้นเป็นสิ่งหายาก เช่น ดินแดนที่ราบบนภูเขาสูงในธิเบตเป็นต้น
เมื่อคณะของผู้เขียนเดินทางมาถึงลานที่เขาใช้เป็นสถานที่จอดรถมีรถโดยสารของคณะผู้แสวงบุญนานาชาติ จอดกันหลายคัน ทางขึ้นเขาคิชกูฏ จึงเต็มไปด้วยผู้มาแสวงบุญกันเป็นจำนวนมากทั้งชาวฮินดูและชาวพุทธไทยนิยมขึ้นไป ปฏิบัติบูชาที่ยอดเขาคิชฌกูฏส่วนชาวฮินดูขึ้นไปแสวงบุญที่วัดญี่ปุ่นยอดเขารัตนคีรี ผู้เขียนเดินไปตามถนนพระเจ้าพิมพิสารขึ้นเขาคิชกูฌกูฏ เมื่อทางผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโบราณเป็นทางน้ำไหลที่มีขนาดเล็ก ๆ อันเหือดแห้งไปแล้ว คณะของพวกเราเดินผ่านถ้ำที่ใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติของพระโมคคัลนะและถ้ำสุกรขาตาอันเป็นสถานที่บรรลุธรรมของพระสารีบุตร ผู้เขียนเดินตามถนนที่เขาทำไว้ด้วยลาดซิเมนต์เป็นอย่างดี มีบันไดหลายขั้นกว่าจะขึ้นไปถึงบนยอดเขาคิชฌกูฎที่รัฐบาลอินเดียเขาสร้างไว้เพื่อสนองความต้องการของผู้แสวงบุญที่จะขึ้นไปปฏิบัติบูชา บนลานหินที่เชื่อว่าเป็นที่ตั้งมูลคันธกุฏของพระพุทธเจ้า ซึ่งเจ้าหน้าที่กองโบราณคดีอินเดียเขาก่อสร้างกำแพงด้วยอิฐล้อมรอบสถานที่เดิมที่เคยเป็นที่ตั้งมูลคันธกุฏีทำด้วยไม้หอม ส่วนหลังคาทำด้วยใบไม้ นอกมูลคันธกุฏีที่มีเนื้อที่ว่างกว้างขวางพอที่จะนั่งสมาธิส่วนตัวได้เกือบ ๑๐๐ คน แต่ทางที่เราขึ้นมาบนยอดเขาคิชฌกูฏเป็นทางใหม่มิใช่เส้นทางเก่าที่พระพุทธองค์เสด็จขึ้นมาเป็นประจำ เพราะทางเสด็จขึ้นมาเป็นจำอยู่อีกทางหนึ่งค่อนช้างชันต้องใช้บันไดต้องใช้กำลังของร่างกายปีนป่ายขึ้นมาหนักพอสมควรอาจลื่นหกล้มตกจากทางที่ปีนได้ ผู้เขียนเดินผ่านสถานที่ตั้งกุฏิของพระอานนท์พุทธอุปฐากของพระพุทธเจ้าซึ่งเจ้าหน้าที่ของกองโบราณคดี รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เขาทำเครื่องหมายเป็นสัญญาลักษณ์ด้วยการก่ออิฐถือปูนให้เรารู้ไว้ว่า พระอานนท์พร้อมที่ถวายงานรับใช้พระพุทธองค์ตลอดเวลา ภูเขาคิชฌกูฏกลายภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งในแดนพุทธภูมิของโลกมนุษย์ เพราะเป็นสถานที่แสวงบุญอีกแห่งที่ผู้แสวงบุญชาวไทยและทั่วโลกต่างตั้งใจอยากมาปฏิบัติบูชาอีกครั้งหนึ่งในชีวิต ที่หน้าประตูทางเข้ามูลคันธกุฎีของพระพุทธเจ้าและเปล่งวาจาสวดมนต์ตามบทสวดด้วยสำเนียงภาษา และวิธีการปฏิบัติตามหลักจริยศาสตร์ในวัฒนธรรมของตน และอธิษฐานบารมีขอให้ตนมีชีวิตที่เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้ามีชื่อเสียงประสบความสำเร็จในชีวิตของตนทุกประการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น